วันพฤหัสบดี


ลูกใต้ใบ

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Phyllanthus amarus Schum & Thonn.

วงศ์ : Euphorbiaceae





ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของลูกใต้ใบ
ลูกใต้ใบ เป็นไม้ล้มลุก สูง 10 – 60 เซนติเมตร ทุกส่วนมีรสขม
ใบ มีลักษณะเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคี่ มีใบย่อย 23 – 25 ใบ ขอบขนานแกมไข่กลับ ปลายใบมนกว้างโคนใบมนแคบ ขนาดประมาณ 0.40 X 1.00 เซนติเมตร ก้านใบสั้นมากและมีหูใบสีขาวนวลรูปสามเหลี่ยมปลายแหลมเกาะติด 2 อัน
ลักษณะดอก เป็น ดอกแยกเพศ เพศเมียมักอยู่ส่วนโคน เพศผู้มักอยู่ส่วนปลายก้านใบ ดอกขนาดเล็กสีขาว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.08 เซนติเมตร
ผล มีลักษณะทรงกลมผิวเรียบสีเขียวอ่อนนวล ขนาดประมาณ 0.15 เซนติเมตร เกาะติดอยู่ที่ใต้โคนใบย่อย เมื่อแก่จะแตกเป็น 6 พู แต่ละพูจะมี 1 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาลรูปเสี้ยว 1/6 ของทรงกลม ขนาดประมาณ 0.10 เซนติเมตร
ส่วนที่ใช้เป็นยา : ทั้งต้นสด
ลูกใต้ใบ...สมุนไพร แก้ไข้ ของผองชน
ลูกใต้ใบเป็นสมุนไพรที่คนส่วนใหญ่รู้จักดี เพราะขึ้นในทุกพื้นที่ทุกภาคของประเทศไทย ซึ่งในสายตาของหมอยาแล้วลูกใต้ใบเป็นสมุนไพรที่พื้นๆ มาก เวลาเดินเก็บยาด้วยกันแล้ว พ่อหมอมักจะเดินผ่านเลยเพราะคิดว่าเรารู้แล้วเสมอ แต่เมื่อหยิบขึ้นมาถาม หมอยาทุกภาคทุกถิ่นจะใช้ลูกใต้ใบเหมือนๆ กัน คือ ส่วนใหญ่ใช้เป็นยาแก้นิ่ว แก้โรคตับ แก้ปวดเมื่อย แก้เบาหวาน ใช้ต้มกิน แก้ไข้ ลูกใต้ใบเป็นสมุนไพรที่แพร่กระจายอยู่ในหลายๆ ประเทศ ทั้งในบราซิล เปรู หมู่เกาะคาริบเบียน สหรัฐอเมริกา อินเดีย ไทย ลาว พม่า เขมร แต่ละพื้นถิ่นที่มีลูกใต้ใบจะใช้ประโยชน์ทางยาจากสมุนไพรชนิดนี้เหมือนๆ กัน

ลูกใต้ใบสมุนไพรแก้ไข้ แก้อักเสบ แก้ปวดเมื่อย
ลูกใต้ใบเป็นสมุนไพรที่พระธุดงค์ตากแห้งพกติดกาย ชงเป็นชายามเดินธุดงค์เพื่อใช้แก้ไข้ที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ อาทิ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้จากการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ไข้จากอ่อนเพลีย ไข้จับสั่น รวมทั้งแก้ท้องเสียได้ดีนัก ชาวบ้านในหลายพื้นที่นิยมตากลูกใต้ใบให้แห้งเก็บใส่โหลไว้ชงเป็นชากินเพื่อแก้ไข้ แก้ปวดข้อ แก้อักเสบ แก้ปวด มีรายงานการวิจัยพบว่าลูกใต้ใบมีฤทธิ์ในการแก้ไข้ แก้อักเสบได้ สอดคล้องกับการใช้ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน

ลูกใต้ใบสมุนไพรบำรุงตับ ลดอาการตับอักเสบ  สร้างความสมดุลของไขมันในตับ
หมอยาคนจีนเชื่อว่าถ้ากินลูกใต้ใบติดต่อกันหนึ่งสัปดาห์จะช่วยกำจัดพิษออกจากตับ มีผลทำให้สายตาดี บำรุงตับ รักษาอาการดีซ่าน ซึ่งก็คล้ายๆ กับหมอยาพื้นบ้านไทยและหมออายุรเวทอินเดียที่มีความเชื่อว่า ลูกใต้ใบเกิดมาเพื่อตับ ใช้ต้มกินเป็นยาแก้ดีซ่าน แก้ตับอักเสบตัวเหลือง ตาเหลือง ซึ่งมีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่า สารสกัดจากลูกใต้ใบมีฤทธิ์ป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายจากสารพิษ เช่น เหล้า รักษาอาการอักเสบของตับทั้งประเภทเฉียบพลันและเรื้อรัง ลูกใต้ใบยังช่วยปรับไขมันในตับให้เป็นปกติ 

ลูกใต้ใบยังเหมาะที่จะใช้ทำเป็นชาสมุนไพรให้กับคนไข้ที่เป็นมะเร็งตับ เพราะมีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่า น้ำต้มของลูกใต้ใบทำให้หนูที่เป็นมะเร็งตับมีอายุยืนยาวขึ้น ด้วยกลไกที่ทำให้เซลล์มะเร็งเติบโตช้าลงแต่ไม่ได้ฆ่าเซลล์มะเร็งโดยตรง

ลูกใต้ใบสมุนไพรของผู้ป่วยเบาหวาน
 ลูกใต้ใบเป็นสมุนไพรยอดนิยมของผู้ป่วยเบาหวาน หมอยาและชาวบ้านในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เชื่อว่าลูกใต้ใบเป็นสมุนไพรช่วยคุมระดับน้ำตาลในคนเป็นโรคเบาหวานได้ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาพบว่าสารสกัดของลูกใต้ใบมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

ข้อแนะนำ...สำหรับการใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน หากจะใช้สมุนไพรต้องรับประทานยาแผนปัจจุบันตามคำสั่งแพทย์และมีการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งมีรายงานที่แสดงให้เห็นว่าลูกใต้ใบช่วยเสริมฤทธิ์ของยาเบาหวาน

ลูกใต้ใบสมุนไพร ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว
หมอยาทั่วทุกภาคจะใช้ลูกใต้ใบในการเป็นยาขับนิ่วมีรายงานการศึกษาสมัยใหม่ว่าลูกใต้ใบมีสรรพคุณเป็นยาขับปัสสาวะ ซึ่งมีประโยชน์ในการขับนิ่ว และลดความดัน ฤทธิ์ในการขับนิ่วนั้น มิใช่หมอยาพื้นบ้านไทยเท่านั้นที่รู้จักใช้ ในสเปน เรียกลูกใต้ใบว่า Chanca piedra มีความหมายว่า นักทุบหิน หรือทำให้หินเป็นชิ้นเล็กๆ (Stone breaker or Shatter stone) ในบราซิลเรียกลูกใต้ใบว่า Quebra-pedra หรือ Arranca-pedras ซึ่งมีความหมายในทำนองเดียวกัน หมอยาพื้นบ้านในแถบลุ่มน้ำอเมซอนนิยมใช้ลูกใต้ใบ ต้มกินในการรักษานิ่วทั้งนิ่วในถุงน้ำดีและนิ่วในไต มีรายงานการศึกษาพบว่าลูกใต้ใบมีฤทธิ์ทั้งป้องกันและกำจัดนิ่ว
ลูกใต้ใบ เป็นสมุนไพรที่จัดว่ามีการใช้กับระบบทางเดินปัสสาวะมากที่สุดชนิดหนึ่ง โดยมีการนำไปใช้รักษาอาการมีไข่ขาวในปัสสาวะ อาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ใช้ในการขับปัสสาวะ ลดอาการบวม และขับกรดยูริคออกทางปัสสาวะ ซึ่งช่วยในคนเป็นโรคเก๊าท์

ลูกใต้ใบ เป็นสมุนไพรที่น่าเสียดายว่าหาง่าย ใช้ง่าย เพียงแค่ต้มกินก็ใช้ได้แล้ว ใช้กันมานานทั่วทั้งโลกจนกลายเป็นธุรกิจการลงทุน ในด้านการวิจัยนั้นมักจะลงทุนเพื่อประโยชน์ทางการค้า เป็นความลับทางธุรกิจมากกว่าจะลงทุนวิจัยเพื่อประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง และในความนึกคิดของคนทั่วไป สมุนไพรมักจะเป็นอะไรที่ต้องออกจากห้องทดลอง อยู่ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปสวยงาม ทั้งที่จริงๆ แล้วสมุนไพรเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว ทำเองได้ พึ่งตนเองได้

ข้อควรระวัง : ห้ามใช้ในคนท้อง เพราะลูกใต้ใบ มีฤทธิ์เป็นยาขับประจำเดือน

ที่มา : หน่วยปฏิบัติการวิจัยเคมีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 




 



ด้านงานวิจัย  รายงานการวิจัยฤทธิ์ของสมุนไพรใต้ใบทั้งหลาย Phyllanthus amarus พอจะสรุปได้ดังต่อไปนี้


1. ฤทธิ์ต้านไวรัสตับอักเสบ มีรายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B virus, HBV) ของสารสกัดของ P. amarus ในห้องปฏิบัติการ และมีการศึกษาวิจัยต่อเนื่องถึงกลไกการออกฤทธิ์ ซึ่งพบว่ามีได้หลายกลไกการออกฤทธิ์ เช่น การยับยั้ง HBV DNA polymerase, ยับยั้ง HBV mRNA transcription & replication เป็นต้น และมีรายงานการวิจัยในคนหลายรายงาน ซึ่ง The Cochrane Hepato-Biliary Group ได้สรุปผลงานวิจัยที่เป็น randomized controlled trial (RCT) ของพืชสกุล Phyllanthus ในโรคตับอักเสบเรื้อรังไว้ มีเพียง 5 รายงานที่มีคุณภาพดี สรุปได้ว่าPhyllanthus sp. ให้ผลบวกต่อการ clearance ของ serum HbsAg เมื่อเทียบกับ placebo หรือเมื่อไม่ให้การรักษาไม่มีความแตกต่างในการ clearance ของ serum HBsAg, HBeAg, HBV DNA ระหว่าง Phyllanthus sp. กับ interferon (IFN) Phyllanthus sp. ให้ผลดีกว่า non-specific treatment หรือยาจากสมุนไพรอื่นๆ ในการ clearance ของ serum HBsAg, HBeAg, HBV DNA และการกลับมาเป็นปกติของค่า liver enzymesการใช้ Phyllanthus sp. ร่วมกับ IFN จะให้ผลดีกว่า IFN อย่างเดียวในการ clearance ของ serum HbeAg และ HBV DNAไม่พบ serious adverse event สรุปได้ว่า Phyllanthus sp. อาจมี positive effect ด้าน antiviral activity และต่อ liver biochemistryในโรคตับอักเสบบีแบบเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่มียังไม่หนักแน่นพอเนื่องจากคุณภาพของวิธีวิจัยและความแตกต่างของสมุนไพรที่นำมาวิจัย จึงควรมีงานวิจัยในขนาดใหญ่ต่อไปในอนาคต


 2 ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อเอชไอวี สารสกัดด้วยน้ำและสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ของ P. amarus มีฤทธิ์แรงในการยับยั้ง HIV-1 replication โดยสารออกฤทธิ์อยู่ในกลุ่ม gallotannins โดยสาร geraniin และ corilagin มีฤทธิ์แรงที่สุด นอกจากนี้ สารสกัดทั้งสองและสาร geraniin ยังสามารถยับยั้ง virus uptake ได้ 70-75% รวมทั้งยับยั้ง HIV-1 reverse transcriptase ด้วย


3. ฤทธิ์ต้านไวรัสหัวเหลือง (Yellow head virus, YHV) ในกุ้งกุลาดำ นักวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จังหวัดสงขลา ทำการวิจัยฤทธิ์ของสารสกัดสมุนไพรลูกใต้ใบชนิด P. urinaria ที่ผสมในอาหารในการป้องกันการติดเชื้อ YHV ในกุ้งกุลาดำ โดยเอากุ้งมาฉีดเชื้อ YHV พบว่ากุ้งที่ได้รับอาหารที่ผสมสารสกัดสมุนไพรมีอัตราการรอดตายสูง และสามารถฟื้นเป็นปกติได้ เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่พบอัตราการรอดเลย


4. ฤทธิ์ต้านอักเสบ สารสกัดของ P. amarus มีฤทธิ์ต้านอักเสบโดยการยับยั้ง endotoxin-induced nitric oxide synthase (iNOS), cyclooxygenase (COX-2) และ tumor necrosis factor-alpha (TNF-) และสารสกัดด้วยน้ำและสารสกัดด้วยเมธานอลมีฤทธิ์ต้านอักเสบโดยลดการบวมของอุ้งเท้าหนูได้


5. ฤทธิ์ antioxidant และต้านอนุมูลอิสระ สารสกัดด้วยเมธานอลของ P. amarus มีฤทธิ์ antioxidant สามารถยับยั้ง lipid peroxidation และต้านอนุมูลอิสระได้เมื่อศึกษาในหลอดทดลอง


6. ฤทธิ์ลดการเจ็บปวดและอาการบวม สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ผสมกับน้ำ (hydroalcoholic extract) มีฤทธิ์ต้านอาการเจ็บปวดจากการได้รับสารต่างๆ เช่น acetic acid, formalin หรือ capsiacin และสารสกัดด้วยเฮกเซนสามารถต้านอาการบวมและอาการเจ็บปวดในหนูที่ได้รับ Complete Freund’s adjuvant ฉีดเข้าอุ้งเท้าได้ 


7. ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลของกระเพาะอาหาร สารสกัดด้วยเมธานอลของ P. amarus สามารถลดอัตราตาย พื้นที่ที่เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และอาการเลือดออก เนื่องจากได้รับเอธานอลได้


8. ฤทธิ์ต้านอาการท้องเสีย สารสกัดด้วยน้ำของ P. amarus สามารถลดการเคลื่อนตัวของอาหารในลำไส้หนูถีบจักร ชะลอการเกิดท้องเสีย และจำนวนครั้งที่ถ่ายหลังจากได้รับน้ำมันละหุ่ง


9. ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด สารสกัดด้วยเมธานอลของ P. amarus มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในหนูที่ถูกทำให้เป็นเบาหวานด้วยการฉีดสาร alloxan
10. ฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ สารสกัดด้วยเมธานอลของ P. amarus มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ของสาร 2-acetaminofluorene (2-AFF),aflatoxin B1,sodium azide,N-methyl-N-nitro-N-nitrosoguanidineและ4-nitro-O-phenylenediamine เมื่อศึกษาด้วยAmes test


11. ฤทธิ์ต้านเนื้องอกและต้านมะเร็ง สารสกัดด้วยน้ำของ P. amarus สามารถต้านการเกิดมะเร็ง sarcoma ในหนูที่ได้รับสารก่อมะเร็ง 20-methylcholanthrene และยืดอายุของหนูที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์มะเร็ง Dalton’s lymphoma ascites และ Ehrlich Ascites carcinoma และทำให้ก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กลง


12. ฤทธิ์คุมกำเนิด เมื่อป้อนสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์ของ P. amarus ทั้งต้นแก่หนูถีบจักรเพศเมีย ในขนาด 100 มก./กก. 30 วัน พบว่ามีผลต่อระดับเอนไซม์ 3 beta & 17 beta hydroxy steroid dehydrogenase ทำให้หนูไม่ตั้งท้องเมื่อเลี้ยงรวมกับหนูเพศผู้
ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์


การทดลองใช้ยาสมุนไพรรักษาไวรัสตับอักเสบ
พืชสมุนไพรหลายชนิดมีฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์ดีเอ็นเอของไวรัสชนิดนี้ และสารสกัดของลูกใต้ใบหรือมะขามป้อมดิน แพทย์ชาวอเมริกันและอินเดียได้ร่วมกันทำการทดลองพบว่า ยาสมุนไพรที่ใช้สืบต่อกันมามากกว่า 2,000 ปี สามารถรักษาโรคไวรัสตับอักเสบชนิด บี ได้ผลดี



การทดลองนี้เป็นความร่วมมือระหว่างคณะแพทย์จากสถาบันวิจัยมะเร็งแห่งฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา และคณะแพทย์อินเดียแห่งเมืองมีคราสได้ศึกษาวิจัยพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ ที่มีการใช้รักษาอาการดีซ่านมาตั้งแต่โบราณ โดยได้นำพืชสมุนไพรกว่า 1,000 ชนิดที่ใช้กันทั่วโลกมาทดสอบความสามารถในการยับยั้งปฏิกิริยาของเอนไซม์ที่ใช้ในการสังเคราะห์สารดีเอ็นเอ ซึ่งจำเป็นในการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ในร่างกายของผู้ป่วย
จากการทดลองพบว่า พืชสมุนไพรหลายชนิดมีฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์ดีเอ็นเอของไวรัสชนิดนี้ และสารสกัดของมะขามป้อมดิน (บางแห่งเรียก ลูกใต้ใบ หญ้าใต้ใบขาว) มีฤทธิ์สูงสุด การทดลองทางคลินิกในมีคราสทำโดยให้แคปซูลยาสมุนไพร 200 มิลลิกรัมน้ำหนักแห้งแก่ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ บี 37 คน วันละครั้ง 30 วันติดต่อกันพร้อมกับให้ยาหลอกซึ่งภายในแคปซูลบรรจุน้ำตาลแล็กโทสแทน 23 คน หลังจากนั้นเจาะเลือดผู้ป่วยมาตรวจหาเชื้อไวรัส พบว่าผู้ป่วย 22 คน (ร้อยละ 59) ไม่มีเชื้อไวรัสในกระแสเลือด ในขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกเพียง 1 คนที่ไม่พบเชื้อไวรัสในกระแสเลือด และภายหลังการติดตามผลการรักษาต่อไปอีก 9 เดือน พบว่า ผู้ป่วยทั้ง 22 คน ยังคงตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในกระแสเลือดต่อไป
แพทย์พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแต่ไม่ได้ผลยังพบเชื้อไวรัสอยู่นั้น เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนั้นเพิ่งได้รับเชื้อไวรัสใหม่ๆ จึงยังคงมีเชื้อไวรัสจำนวนมากมายในระยะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว จึงควรจะให้ยาในขนาดที่สูงขึ้นอีก การใช้มะขามป้อมดินในการรักษาอาการดีซ่านนี้ ได้กล่าวไว้ครั้งแรกในตำราอายุรเวทอินเดียมานานกว่า 2,000 ปีแล้ว และสารสกัดจากพืชนี้ได้มีการใช้รักษาอาการดีซ่านในประเทศจีน ฟิลิปปินส์ คิวบา ไนจีเรีย กวม แอฟริกาตะวันออกและตะวันตก อเมริกาใต้และอเมริกากลาง และพืชในตระกูลนี้กว่า 900 ชนิด พบขึ้นอยู่ทั่วไปในเขตร้อน
(จาก Herbal drug succeed in hepatitis trials. Far East Health 2531;11:8)
ร.ศ.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์