วันศุกร์

พลูคาว

พลูคาว 
ชื่อวิทยาศาสตร์   Houttuynia cordata Thunb. 
วงศ์   Saururaceae 





จากข้อสังเกตว่า จำนวนประชากรในภาคเหนือเป็น โรคมะเร็งค่อนข้างน้อย เนื่องจากบริโภคพลูคาวเป็นประจำ และหมอแผนโบราณเคยใช้พลูคาวมารักษาผู้ป่วยริดสีดวงทวาร ทำให้หายเจ็บปวดโดยไม่ต้องทำการผ่าตัด ทำให้คณะนักวิจัยซึ่ง ประกอบด้วย รศ.มณเฑียร เปสี, ศ.น.พ.พงษ์ศิริ ปรารถนาดี, รศ.น.พ.สุขชาติ เกิดผล, ผศ.ดร.วิจิตร เกิดผล และผศ. ดุษฎี มุสิกโปดก คณะแพทย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยขอนแก่น สนใจที่จะศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้พลูคาวรักษาผู้ป่วยมะเร็ง   ขณะเดียวกันการวิจัยทำให้ได้ทราบข้อเท็จจริงว่า สีแดงที่อยู่ใต้ใบพลูคาวเป็นตัวชี้วัดว่ามีเภสัชสาร ซึ่งเป็นสารเฮลตีแบคทีเรีย มีจุลินทรีย์และแลคโตบาซิลลัสสายพันธุ์หนึ่ง ที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายของมนุษย์ให้ทำงานได้ดีขึ้น ทั้งยังสามารถไปยับยั้งการเจริญเติบโตและต้านทานเนื้องอก (Anti-tumor) และช่วยต้านอนุมูลอิสระในร่างกายได้ค่อนข้างดี


พลูคาว หรือที่เรียกกันว่า ผักคาวตอง หรือก้านตอง เป็นไม้เลื้อยล้มลุก เป็นพืชตระกูลเดียวกับพลู แต่อายุอยู่ได้หลายปี ขึ้นอยู่ตามแถวภาคเหนือ ลำต้นจะเลื้อยทอดไปตามพื้นดิน รากแตกออกตามข้อ ทั้งต้นมีกลิ่นคาวอย่างรุนแรง คล้ายปลาช่อน การขยายพันธุ์โดยปักชำ ชอบขึ้นตามริมห้วย หรือที่ชื้นแฉะริมน้ำมี
ร่มเงาเล็กน้อยในสภาพอากาศที่เย็น 

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปทรงคล้ายรูปหัวใจกว้าง โคนใบเว้า ปลายใบแหลม ขอบใบ มีก้านใบยาว ใต้ใบจะมีสีแดงอ่อนถึงสีแดงเข้ม โคนก้านแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกบานมีใบประดับที่โคนดอกสีขาว 4 กลีบ แต่ละช่อมีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก อัดกันแน่นเป็นแท่งทรงกระบอกสีจะออกเหลืองอ่อน ผล เป็นผลแห้งแตกได้


สรรพคุณ

- รักษาโรคมะเร็ง โดยเฉพาะเกี่ยวกับมะเร็งปอด มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งปากมดลูก
- ริดสีดวงทวาร โดยไม่ต้องผ่าตัด
- โรคกามโรค
- โรคผิวหนัง
- ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
- เพิ่มการแบ่งตัวของเซลล์เม็ดเลือดขาว รักษาอาการอักเสบต่าง ๆ เช่น ฝีอักเสบ ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ตาอักเสบ ตับอักเสบ ไตอักเสบ
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อรา หูชั้นกลางอักเสบ






สรรพคุณในตำรับยาไทย
        ต้น: ใช้รักษาโรคติดเชื้อและทางเดินหายใจ ฝีหนองในปอด ปอดบวม ปอดอักเสบ ไข้มาลาเรีย แก้บิด ขับปัสสาวะ ลดอาการบวมน้ำ นิ่ว ขับระดูขาว ริดสีดวงทวาร แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน ฝีฝักบัว แผลเปื่อย ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แก้ไอ หลอดลมอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ
        ราก: ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ใบใช้ แก้โรคบิด โรคผิวหนัง โรคหัด ริดสีดวงทวาร หนองใน
        ใบ: ใช้รักษาโรคบิด หัด โรคผิวหนัง ริดสีดวงทวาร หนองใน ใช้ปรุงเป็นยาแก้กามโรค ทำให้แผลแห้งเร็ว แก้โรคข้อและแก้โรคผิวหนังทุกชนิดทั้งต้นมีรสเย็นและฉุน ใช้เป็นยาแก้โรคบิด โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ แก้ไอ หลอดลมอักเสบ ฝีบวมอักเสบ ริดสีดวงทวาร หูชั้นกลางอักเสบ

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา
        1. ฤทธิ์ระงับปวด เร่งการเจริญเติบโตของเซลล์ ห้ามเลือด รักษาปริมาณของเหลวในร่างกาย
        2. ฤทธิ์ขับปัสสาวะ พบสารฟลาโวนอยด์ ที่แยกได้จากใบพลูคาวเป็นสารสำคัญในการออกฤทธิ์
        3. ฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ น้ำมันหอมระเหยจากการกลั่นส่วนเหนือดินของพลูคาว พบว่ามีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียอย่างแรงต่อเชื้อ Bacillus cereus และ B. Subtilis เชื้ออหิวาต์ Vibrio cholerae 0-1 และ V. Parahaemolyticus
        4. ฤทธิ์ต้านไวรัส น้ำมันหอมระเหยจากพลูคาว ซึ่งประกอบด้วย n–decyl aldehyde, n–dodecyl aldehyde และ methyl–n–nonyl ketone สามารถยับยั้งการเจริญของไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดใหญ่ในหลอดทดลองได้ นอกจากนี้ยังมีผลต่อไวรัสที่มีเปลือกหุ้ม 3 ชนิด ได้แก่ herpes simplex virus type–1 (HSV–1) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ และไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ (HIV–1) และไวรัสที่ปราศจากเปลือกหุ้ม 2 ชนิด คือ โปลิโอไวรัส และ คอกซากีไวรัส




พลูคาว
พลูคาว กินแล้วตาที่พร่ามัวของคนแก่จะดีขึ้น
ไม่ว่าใครจะพูดถึงสรรพคุณของคาวตองว่ามีมากมายอย่างไร แต่ถ้าไปถามพ่อหมอฉล่าซู่ หมอยาไทยใหญ่แห่งตำบลเปียงหลวงแล้ว ท่านก็จะยืนยันว่า คาวตองแก้คนแก่ตาพร่า ฝ้าฟาง พร่ามัว โดยนำผักคาวตองมารับประทานเป็นประจำ เป็นอาหารประจำวันทุกวัน พ่อหมอฉล่าซู่บอกว่าถ้ารับประทานหมด ๓ จ้อย (๑ จ้อยประมาณ ๑.๖ กิโลกรัม) จะทำให้คนแก่ที่ตามัวมองเห็นได้ชัดถึงขั้นเอาด้ายใส่ในรูเข็มได้สบาย ท่านบอกเคยเห็นมาแล้ว

พลูคาว ผักเป็นยา… ยาเบาหวาน ยาความดัน ยาริดสีดวง ยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร
หมอยาทั่วไปทั้งหมอยาอิสาน ภาคเหนือหรือไทยใหญ่ มีความเชื่อว่าการกินคาวตองสดๆ กับน้ำพริก ลู่ ลาบ หรือใช้รากต้มกับปลาไหล รากตำเป็นน้ำพริกกินจะเป็นยารักษาได้หลายโรค เช่น เบาหวาน ขับปัสสาวะ ช่วยรักษาความดันโลหิตสูง ริดสีดวงทวาร แผลในกระเพาะอาหาร ส่วนหมอยากะเหรี่ยงทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันออก นอกจากจะเชื่อว่าการกินคาวตองเป็นผักจะทำให้แข็งแรงแล้ว ยังช่วยบำรุงเลือดให้สตรีที่ตกเลือดหลังคลอด รับประทานแล้วจะเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลดังเดิม

พลูคาวรักษาโรคผิวหนังอักเสบ แมลงสัตว์ กัดต่อย ไล่เหา หมัด
คาวตองยังนิยมใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน แผลเปื่อย โดยการนำต้นสดตำพอก เปลี่ยนยาวันละ ๒ ครั้ง นอกจากนี้เมื่อถูกแมลงสัตว์กัดต่อย อักเสบช้ำบวม กระดูกหัก หมอยาพื้นบ้านจะใช้ทั้งต้นตำพอกไว้ เปลี่ยนยาวันละสองครั้ง นอกจากนี้คาวตองยังมีสรรพคุณในการไล่หมัดและเหาโดยการตำคั้นน้ำมาหมักผมไว้ เหาและหมัดก็จะหลุดออกมา

พลูคาว เพิ่มภูมิคุ้มกัน ต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ต้านมะเร็
ประมาณปี ๒๕๔๗ เภสัชกรปราณี ชวลิตธำรง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในขณะนั้น ได้ฝากให้ช่วยหาคาวตองจากจังหวัดเชียงใหม่มาให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อนำมาศึกษาวิจัยเพื่อจัดทำมาตรฐาน จึงทำให้สนใจในสรรพคุณทางยาของคาวตองมากขึ้น และเพิ่งได้รู้ว่าคาวตองเป็นสมุนไพรตัวหนึ่งที่มีการศึกษาวิจัย และมีการจดสิทธิบัตรมากตัวหนึ่ง ทั้งในแง่ของการเป็นยาและเครื่องสำอาง การเป็นยาที่สำคัญคือการเป็นยารักษามะเร็ง ซึ่งในการรักษามะเร็งนี้ได้เคยมีชาวบ้านเล่าให้ฟังอยู่บ้าง มีทั้งการต้มกินน้ำและการกินสดๆ

นอกจากมีการศึกษาวิจัยพลูคาวในแง่ของการเป็นยารักษามะเร็งแล้ว คาวตองยังเป็นความหวังในการรักษาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ๒๐๐๙ ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากคาวตองมีผลในการเพิ่มภูมิคุ้มกันและน้ำมันหอมระเหยของคาวตองยังมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในหลอดทดลอง มีหมอยาเมืองเลยเคยบอกว่า ในการรักษาหวัดคัดจมูก ปวดหัว ตาพร่ามัว ให้ขยี้ใบคาวตองและใบผักแพวดม อาการจะดีขึ้น



ในประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ใช้ทั้งต้นเป็นยาลดไข้ ขจัดสารพิษ รักษาแผลในกระเพาะและลดการอักเสบ 
ประเทศเกาหลีใช้พลูคาวเป็นยาลดความดันโลหิตสูง ภาวะหลอดเลือดแข็งตัวเนื่องจากมีการสะสมของไขมัน (atherosclersis) และมะเร็ง ส่วนเนปาลใช้ลำต้นใต้ดินในตำรับยาที่เกี่ยวกับโรคของสตรี ขับระดู ใช้ทั้งต้นเป็นยาย่อยอาหาร บรรเทาอาการอักเสบ ใบใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง แก้บิดและริดสีดวงทวาร ดังนั้นจะเห็นว่าการใช้ประโยชน์จากคาวตองของหมอพื้นบ้านในแต่ละประเทศไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก
พลูคาว ความหวังในการพิชิตโรคร้าย
พลูคาวจัดเป็นผักสมุนไพรที่มีการศึกษาวิจัยและจดสิทธิบัตรมากตัวหนึ่ง จากการวิจัยทั้งในและต่างประเทศ พบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพลูคาวเช่นเดียวกับการใช้ประโยชน์ทางยาของหมอยาพื้นบ้านตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนี้ ฤทธิ์ขับปัสสาวะ พบว่าสารฟลาโวนอยด์ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงไต จึงมีผลเพิ่มการขับปัสสาวะ ฤทธิ์ต้านเชื้อราและแบคทีเรีย ฤทธิ์ต้านไวรัส น้ำมันหอมระเหยจากพลูคาวสามารถยับยั้งการเจริญของไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดใหญ่ ไวรัสต้นเหตุของโรคเริม ไวรัสไข้หวัดใหญ่ และไวรัสเอดส์ ฤทธิ์ในการทำลายเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง ซึ่งในประเทศจีน มีการใช้พลูคาวเป็นส่วนประกอบในตำรับยาผงและยาฉีดในมะเร็งหลายชนิด ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และฤทธิ์ต้านการอักเสบและระงับการปวด โดยออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาแก้ปวดลดการอักเสบแผนปัจจุบันที่มิใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ฤทธิ์ในการต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น



เอกสารอ้างอิง
 แน่งน้อย แสงเสน่ห์. 2541. สารต้านเชื้อราและสารต้านเชื้อแบคทีเรียจากใบพลูคาวและต้นพญาไฟ.วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่. 102 หน้า.
 พร้อมจิต ศรลัมภ์ และ คณะ. 2543. สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 1. สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ, ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์, คณะเภสัชศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล, กรุงเทพฯ. 219 หน้า.
 วรัญญา อาจจันทึก.2545. ผลของสารสกัดจากใบพลูคาวต่อการควบคุมโรคแอนแทรคโนสของมะม่วง. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,เชียงใหม่. 62 หน้า. 
 สุคนธ์ทิพย์ สมบัติ. 2543. ผลของสารสกัดจากพืชสมุนไพรในการควบคุมโรคใบจุดออลเทอนาเรียของกะหล่ำปลี. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่. 95 หน้า.






ขอขอบคุณ
http://www.ist.cmu.ac.th/



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น